Skip to content
Home    »   รวมบทความเกี่ยวกับ Productive Life และการใช้ ClickUp    »   Productive Book    »   รีวิวสรุป หนังสือ The Productivity Project โปรเจกต์ลับคนไฟลุก มาอัปเกรดความ Productive กัน

รีวิวสรุป หนังสือ The Productivity Project โปรเจกต์ลับคนไฟลุก มาอัปเกรดความ Productive กัน

the productivity project book review

จะมีสักกี่คนที่ใช้เวลา 365 วันเต็มเพื่อเอาตัวเองเป็นหนูทดลองให้กับเทคนิคหรือแนวทางในการเพิ่ม Productivity หรือ ประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่างๆ ให้กับตนเอง แต่ก็มีหนึ่งคนล่ะครับ เขาชื่อ Chris Bailey ผู้ที่ TED Talks เคยเรียกว่า “ชายผู้มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก” และก็คือผู้เขียนหนังสือ The Productivity Project โปรเจกต์ลับคนไฟลุกเล่มนี้ ถึงแม้จะถูกเขียนขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่เนื้อหาเหมือนยิ่งจำเป็นมากขึ้น เพราะโลกยิ่งวุ่นวายขึ้น งานที่เยอะขึ้น ผู้คนสมาธิสั้นมากขึ้น โดยเฉพาะจากเจ้ามือถือเครื่องเล็กๆ ที่แสนจะทรงอานุภาพ

สารบัญ

มุมมอง Productive

ด้วยชื่อหนังสือก็คงไม่ต้องรีวิวในมุมมองนี้แล้ว แต่จะขอพูดย้อนไปถึงความเข้าใจในยุคก่อน ซึ่งเรามักจะมองว่า การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือคนทำงานเก่งคือ คนที่ทำงานได้หลายอย่างพร้อมๆ กัน, ทำงานอึด, ทำงานได้หลายชม.ในแต่ละวัน หรือทำงานได้หลายวันในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับผลงานวิจัยและผลการทดลองใหม่ในยุคนี้ และยิ่งตรงกันข้ามลิบลับกับคำว่า Productive หรือ Productivity ซึ่งตรงข้ามแค่ไหน เล่มนี้ให้คำตอบไว้อย่างชัดเจน

สิ่งที่ผมคาดหวังจะได้จากหนังสือ “The Productivity project โปรเจกต์ลับคนไฟลุก”

จริงๆ เล่มนี้เป็นเล่มเดียวที่ผมไม่ได้ตั้งใจจะซื้อโดยการใช้เซนส์ เรียกว่าแนวๆ รักแรกพบ หรือ พรหมลิขิตในการเลือกซื้อหนังสือก็ได้ 😆 แต่การซื้อเล่มนี้เกิดจากการที่ผมอ่านหนังสือชื่อ “Hyper focus (ลิงก์หนังสือ)” แล้วผมชอบ และในหนังสือก็บอกว่าคือผู้เขียนเดียวกับ “The productivity project” และเมื่อเล่มที่ผมกำลังอ่านคือเล่มที่เขียนทีหลัง ผมมักจะเข้าใจเอาเองว่า เล่มแรกต้องประสบความสำเร็จมากแน่ๆ ถึงมีเล่มต่อมา

และอีกอย่าง ตั้งแต่ผมเริ่มใช้ CilckUp เมื่อ 2 ปีก่อน ผมก็เริ่มคลั่งคำว่า productive และ productivity ซึ่งทั้ง 2 คำ สามารถดึงดูดผมได้ง่ายมาก โดยเฉพาะที่อยู่บนปกหนังสือ ดังนั้น ความคาดหวังเดียวในตอนตัดสินใจสั่งซื้อนอกจากชื่อเรื่องก็คือ “ผมจะเอามา Output ลงเว็บนี่ล่ะ เพราะคิดว่ามันต้องมีประโยชน์กับชาว Productive To Go แน่ๆ

สิ่งที่ค้นพบจากหนังสือ “The Productivity project โปรเจกต์ลับคนไฟลุก”

สิ่งแรกเลยที่ผมว้าว ก็คือการสร้างรากฐานให้กับความเข้าใจในคำว่า “Productivity หรือ ความมีประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่างๆ” เพื่อให้เรา Productive ได้จริงๆ โดยเราจะต้องมี 3 สิ่งนี้อย่างเพียงพอคือ

  • สมาธิ : จดจ่ออยู่กับงานๆ เดียว โดยที่ไม่วอกแวกหรือวอกแวกน้อย
  • พลังงาน : มีพร้อมทั้งพลังกาย และพลังใจ อย่างเช่น แรงผลักดัน แรงบรรดาลใจ หรือ passion
  • เวลา : เราต้องใช้เวลาไปกับสิ่งที่สำคัญๆ หรือสิ่งที่ตั้งใจไว้จริงๆ แต่ถ้าใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับสิ่งอื่น ความมีประสิทธิภาพก็ไม่เกิด
the productivity project book review summary

ทำไมทั้ง 3 สิ่งจึงสำคัญและเกี่ยวโยงกัน นั่นก็เพระว่า แม้เราจะมีสมาธิสูงมากและเวลาเพียงพอ แต่หากเราขาดพลังงานก็จะมีความเหนื่อยล้า ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานไม่ดี และผลร้ายที่สุดคือ ถ้าเรายิ่งฝืนทำแบบนี้ต่อไปก็จะเกิด “ภาวะหมดไฟ (Burnout)” ที่มักเป็นปัญหาของใครหลายๆ คนในยุคนี้ ผมก็เคยเป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน

หรือถ้าเรามีพลังงานเหลือล้น พร้อมสมาธิที่สูงมาก แต่เราไม่มีเวลาเพียงพอ งานที่ออกมาก็ไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น

และถึงแม้เราจะมีเวลามากมายกว่า 4 ชม. พร้อมพลังงานเต็มเปี่ยม แต่เราไม่มีสมาธิ พอเวลาผ่านไปจนเผาผลาญพลังงานและเวลาจนหมด เชื่อได้เลยว่างานที่ออกมาก็ไม่มีคุณภาพ และอาจจะแย่กว่างานที่มีเวลาแค่ 1 ชม. แต่มีทั้ง 3 สิ่งเต็มเปี่ยม

ตัวอย่างคือตัวผมเอง ที่เคยตั้งเป้าทำงานให้ได้อย่างน้อยวันละ 12 ชม. (6 วันต่อสัปดาห์) หลังจากทำมาได้ 2 เดือน แม้ความภาคภูมิใจจะมาเต็มมากๆ แต่พอกลับมาดูที่ตัวผลลัพธ์แล้ว กลับรู้สึกว่างานไม่ค่อยคืบหน้าเท่าที่ควร เพราะเสร็จไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้อยู่ดี

นั่นก็เพราะสิ่งที่ผมขาดไปคือ 2 สิ่งสำคัญ ได้แก่ พลังงาน และ สมาธิ ซึ่งถึงแม้จะมีเวลาถึง 12 ชั่งโมง แต่สมาธิจะมีได้แค่ 4-6 ชั่วโมง ส่วนพลังงานก็น่าจะหมดไปตั้งแต่ 7-8 ชั่วโมงแรกแล้ว ดังนั้น ผลลัพธ์จึงไม่ต่างกับการทำงานด้วยชั่วโมงปกติอย่างมีสมาธิเลย เผลอๆ แย่กว่าด้วย เพราะยิ่งใช้พลังงานเกิน ก็ยิ่งลดทอนสมาธิในวันถัดไป นี่ยังไม่รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญของงานที่ผิดพลาดได้อีก เพราะต้องเอาทั้ง 3 สิ่งไปใช้กับงานที่สำคัญที่สุด และมีคุณค่ามากที่สุด

ดังนั้น Productive ในใจกลางวงกลมก็คือ การที่เรามีเวลาเพียงพอ พลังงานเพียงพอ และสมาธิเพียงพอ เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ประสิทธิภาพไม่ได้หมายถึงจำนวนงานหรือเวลาที่ทำ แต่หมายถึง จำนวนความสำเร็จของคุณ

หนังสือ : The Productivity Project

จากที่ผมเขียนมาทั้งหมดในหัวข้อนี้ ขอบอกว่า คือสิ่งที่ค้นพบได้จากแค่บทนำ ซึ่งยังไม่ได้เข้าบทที่ 1 เลย ดังนั้น ส่วนที่เหลือผมจะของสรุปแต่ละบทสั้นๆ เพื่อเป็นแนวทางของคุณว่าควรจะอ่านหนังสือเล่มนี้หรือไม่

ก่อนเข้าเนื้อหาบทแรกขอบอกเพิ่มอีกนิดว่า ภายในเล่มนี้มีแบบฝึกหัดให้ลองทำตามด้วย ซึ่งก็เหมือนการได้ทดลองทำตามเทคนิคเพื่อเพิ่มความ productive ให้กับตัวเรานั่นล่ะครับ ซึ่งผมลองแล้วได้ผลดีมากๆ เลย แต่ถ้าคุณลองอาจจะโดนใจแค่บางเทคนิคก็ไม่แปลกครับ เพราะแต่ละคนจะสามารถปรับจูนให้ตัวเอง Productive ขึ้นได้ ด้วยวิธีที่ต่างกัน

ผมไม่ได้เขียนหัวข้อตามชื่อบทของหนังสือ แต่ผมจะเขียนเป็นแนววิธีการ เพื่อให้คุณสามารถย้อนกลับมาอ่านแค่หัวข้อ ก็จะรู้ว่าต้องทำอะไรได้เลย

ตั้งเป้าหมาย หรือ ค่านิยม

คุณต้องตระหนักว่าทำไมคุณถึงอยาก Productive มากขึ้น นั่นคือสิ่งที่สำคัญมาก เพราะมันจะเป็นตัวบังคับทิศทางในการทำสิ่งต่างๆ รวมถึงคอยเป็นแรงจูงใจ และพลังใจให้เราพัฒนาตัวเองต่อไปจนถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้น ถ้าคุณยังตอบไม่ได้ว่าทำไม คุณต้องตั้งเป้าหมาย หรือ ค่านิยมของคุณก่อน ว่าคืออะไร และฝังมันไว้ในหัวใจตลอดเวลา

หากคุณคิดไม่ออกอีก ให้ลองจินตนาการว่า ถ้าคุณจะต้องจากโลกนี้ไป คุณอยากทำอะไร หรือ มีเป้าหมายอะไรที่ต้องทำให้สำเร็จก่อน

จัดลำดับความสำคัญของงาน และทำเฉพาะงานที่สำคัญ

จากหลักการพาเรโต 80-20 ที่ผมอ้างไว้ในหน้า Home คือสิ่งที่ย้ำเตือนว่างานแค่ 20% มักจะส่งผลต่อประสิทธิภาพหรือความสำเร็จมากถึง 80% ดังนั้น การค้นหาว่างานใดคือ 20% จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ โดยหลักการเลือกผมขอสรุปเองว่าคือ (เพราะหนังสือไม่ได้สรุปไว้)

  • ต้องเกี่ยวข้องกับเป้าหมายโดยตรง
  • ต้องให้ผลลัพธ์ที่สูง หรือ ทำให้เข้าใกล้เป้าหมายได้มากที่สุด ถ้าเป้าหมายคือ เงิน ก็ต้องทำเงินได้สูงสุด
  • ถ้าให้คะแนนคุณค่า เต็ม 100 คะแนน งานนั้นต้องได้มากกว่า 90 คะแนน

เมื่อเจองานเหล่านั้นแล้ว ก็ให้ทุ่มเท สมาธิ พลังงาน และเวลาไปกับมันอย่างเต็มที่

important job components

เลือก 3 งานที่ต้องทำให้สำเร็จในแต่ละวัน

ให้คุณจินตนาการถึงช่วงท้ายวันว่า ถ้าได้ทำงาน 3 อย่างเสร็จจะเป็นอย่างไร มีความสุขแค่ไหน และมีงานอะไรบ้าง (หลักการเลือกงานก็ตามหัวข้อก่อนหน้า โดยให้เลือกตั้งแต่อันดับ 1 ไปถึง 3 *วันไหนไม่ครบ 3 ก็ไม่เป็นไรครับ) จากนั้นก็วางแผนเพื่อทำงานในวันนั้นให้สำเร็จได้จริงๆ

อาจตั้งนาฬิกาปลุกเพื่อคอยย้ำเตือนถึง 3 งานนั้น ในแต่ละช่วงของวันด้วย เพื่อไม่ให้หลุดโฟกัสไปที่งานอื่น

และไม่ใช่ว่าแต่ละวันต้องทำแค่ 3 งานนะครับ เพียงแต่ 3 งานนี้ คืองานที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุด และต้องทำให้เสร็จในวันนั้นๆ

และทำแบบเดียวกันในแต่ละสัปดาห์ด้วยคือ จินตนาการถึงสิ้นสัปดาห์ที่จะถึงว่า ได้ทำงานอะไร 3 งานเสร็จแล้วบ้าง และวางแผนเพื่อทำมันจริงๆ

สาเหตุที่ใช้เลข 3 เพราะมีความเรียบง่าย และคุ้นเคย เนื่องจากหลายๆ สิ่งในโลกมักถูกระบุไว้ด้วยเลข 3 เช่น ลำดับเหรียญกีฬา, นิทานลูกหมู 3 ตัว, ธงชาติ 3 สี เป็นต้น

“ด้วยความเรียบง่ายนี้ จะช่วยให้เราพัฒนา สร้างสรรค์ และรับมือกับความซับซ้อนได้ง่ายขึ้น”

เจ.ดี. ไมเอร์ ผู้เขียน Getting Results the Agile Way”

หาช่วงเวลาทองคำ ที่คุณทำงานได้ลื่นไหล มีสมาธิที่สุดให้เจอ

เวลาทองคำนี้คือ เวลาในแต่ละวันที่สามารถทำงานได้อย่างมีพลัง มีสมาธิ โดยคุณต้องสังเกตด้วยตัวเองว่าคือช่วงเวลาไหน แต่ในหนังสือก็จะมีตาราง Excel มาให้คุณจดบันทึกเพื่อค้นหาช่วงเวลาทองคำด้วย (จากลิงก์จะอยู่ในหัวข้อ Time and Energy trackers )

ซึ่งของผมเองคือช่วงเช้ามืด เพราะมีความเงียบสงบมากๆ บวกกับผมเป็นพวกตื่นเช้ามาก เรียกว่ามากๆๆ ก็ได้ (ปกติผมจะตื่นตี 3 แต่ในขณะที่พิมพ์บทความนี้ ผมตื่นเที่ยงคืน 😆 ซึ่งทำมาได้เกือบเดือนแล้ว เวลานี้ ไม่รู้เรียกว่าเช้าดีไหม 55+.. ที่เป็นเช่นนี้เพราะผมกำลังลดน้ำหนัก แต่มื้อเย็นมักเป็นมื้อที่สร้างแคลอรี่สูง ผมเลยใช้วิธีนอนข้ามมื้อเย็นไปซะเลย คือเข้านอนตั้งแต่ 4 โมงเย็น แล้วตื่นเที่ยงคืน)

ซึ่งแต่ละคนจะมีเวลาทองคำไม่เหมือนกันนะครับ บางคนช่วงเวลาทองคำ อาจจะเป็นช่วงบ่าย, กลางคืนหรือหัวค่ำก็ได้ อย่างของ Chris (ผู้เขียน) จะเป็นช่วงบ่ายและกลางคืน

เปลี่ยนงานน่าขยาดที่มักถูกผลัดวันประกันพรุ่ง ให้เซ็กซี่ขึ้น

งานที่มักผลัดวันประกันพรุ่ง ก็คืองานที่คุณรู้สึกว่าต้องทำแล้วล่ะ แต่ เอ๊ะ! ไปทำนั่นก่อนดีกว่า… ซึ่งถ้าเป็นคนใช้ ClickUp ก็คืองานที่คุณมัก reschedule ตั้งแต่ช่วงเช้าของวัน ถ้าให้ระบุคุณสมบัติของงานน่าขยาด หนังสือ The Productivity Project เล่มนี้ระบุไว้ว่า คืองานที่

  1. น่าเบื่อ
  2. น่าหงุดหงิด
  3. ไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนหรือคลุมเครือ
  4. ไม่มีความหมาย
  5. ไม่มีรางวัลในตัวเอง

แค่ฟังคุณสมบัติก็ขยาดแล้วครับ 😝 แล้วทำไมงานเหล่านี้ถึงถูกผลัดวัน นั่นก็เพราะการทำสงครามพันปีระหว่างสมอง 2 ส่วนคือ “สมองส่วนระบบลิมบิก แห่งอาณาจักรอารมณ์และสัญชาตญาณ” กับ “สมองส่วนพรีฟรอนทัล คอร์เทกซ์ แห่งอาณาจักรการใช้เหตุผล

the productivity project book review summary 1

ปกติของมนุษย์มักมีอารมณ์อยู่เหนือเหตุผลกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องเดาเลยว่าฝ่ายไหนจะได้รับชัยชนะบ่อยกว่ากัน และยิ่งเป็นอารมณ์ด้านลบแล้วล่ะก็ มักมีพลังมากสุดๆ เลย จึงทำให้งานที่เกิดจากคุณสมบัติข้างต้น ก่อให้เกิดอารมณ์ที่มีพลังอย่างมาก ส่งผลให้ทัพของลิมบิกเอาชนะทัพของพรีฟรอนทัล คอร์เทกซ์ ได้แบบราบคาบ ซึ่งส่งผลให้เราเป็นแบบ “รู้ล่ะต้องทำงานนี้แล้ว.. แต่ไม่มีอารมณ์อ่ะ งั้นไปทำงานโน้นก่อนดีกว่า...” ดังนั้น เราจึงต้องเสริมทัพให้กับอาณาจักรเหตุผล โดยการสร้างเหตุผลหรือเงื่อนไขที่ตรงข้ามกับคุณสมบัติทั้ง 5 ขึ้นมา เช่น

  1. น่าเบื่อ : ย้ายที่ทำงานไปที่อื่น เช่น ไปนั่งทำงานในร้านกาแฟ พลางจิบกาแฟหอมๆ พร้อมเค้กแสนอร่อย หรือถ้าเป็นงานที่ชวนเพื่อนมาทำด้วยได้ ก็ลองชวนเพื่อนมาทำดูครับ
  2. น่าหงุดหงิด : จับเวลาทำทีละน้อย ทำไม่ไหวให้หยุดและทำอย่างอื่น
  3. ไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนหรือคลุมเครือ : พยายามวางแผนแค่ 2 ขั้นตอนคือ สิ่งที่ต้องทำเลย และสิ่งที่ต้องทำต่อไป แล้วก็ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนงานเสร็จ
  4. ไม่มีความหมาย : หาสิ่งที่เกี่ยวโยงมาช่วย หรือหาความหมายที่ซ่อนอยู่ของงานนั้นให้เจอ เช่น การทำความสะอาดบ้านพร้อมเปิด Podcast ฟัง ก็เท่ากับว่าได้ความรู้และการออกกำลังกายไปในตัว
  5. ไม่มีรางวัลในตัวเอง : สร้างรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นมา เช่น ทำงานบ้านได้ 300 แคลอรี่ จะได้กินเค้ก 1 ชิ้น, ทำรายการภาษีด้วยตัวเองเสร็จ ให้ไปเที่ยวได้ 1 วัน เพราะได้เงินคืน (อาจจะมากกว่า 1 วัน ถ้าเงินคืนเยอะ 😁) เป็นต้น
change job more sexy

เห็นใจตัวเองในอนาคตเข้าไว้

คนเรามักจะเอางานยากๆ ไว้ทำวันท้ายๆ ซึ่งคนที่ต้องลงมือทำมันก็คือ เราเองในอนาคต ดังนั้น ถ้าเรารู้สึกเห็นใจตัวเองในอนาคตบ้าง เราก็จะแบ่งงานกันอย่างยุติธรรมขึ้น ซึ่งการที่จะทำให้เราเห็นใจใครได้ เราก็ต้องคุ้นเคยกับเขาก่อน ซึ่งการจะคุ้นเคยนั้น วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การพูดคุย

ซึ่งก็ทำได้ตั้งแต่การนึกถึงตัวเองในอนาคตแล้วพูดคุยสารทุกข์สุขดิบทั่วๆ ไป เช่น “วันนี้จะต้องส่งงานแล้วนะ แต่เหลืออีกหลายส่วนเลยนะ เหนื่อยไหม ทำไหวไหม ให้ช่วยไหม..” หรือจินตนาการว่าในอนาคตเราจะเป็นอย่างไร เช่น คิดภาพเราได้ไปพักผ่อนริมทะเลก็ได้ มันก็จะทำให้เราอยากทำงานในวันนี้เพื่อให้อนาคตได้ไปพักริมทะเลจริงๆ การทำเพียงแค่นี้เราก็จะเกิดความผูกพันธ์กับตัวเองในอนาคตมากขึ้น แล้วก็จะเห็นใจเขามากขึ้น

ถ้าคุณสงสัยว่าปกติเราไม่ผูกพันธ์กับตัวเองในอนาคตเหรอ งานวิจัยนี้มีคำตอบ ฮาล เฮิร์ชฟีลด์ อาจารย์จากมหาลัย UCLA ได้ทดลองสแกนสมองของคน โดยให้นึกภาพถึงคนแปลกหน้าอย่างเทย์เลอร์ สวิฟต์ และอีกครั้งให้นึกถึงตัวเองในอนาคต ปรากฏว่าผลสแกนที่ได้ให้ค่าแทบจะเหมือนกันทุกประการ นั่นคือ คุณรู้สึกกับตัวเองในอนาคตเหมือนคนแปลกหน้านั่นเอง

แต่ถ้าคุณเห็นใจตัวเองในอนาคต และแบ่งสรรงานได้อย่างยุติธรรมอยู่แล้วล่ะก็ คุณไม่จำเป็นต้องทำตามหัวข้อนี้ก็ได้ครับ (คุณคือคนที่แม้โลกนี้จะไม่เหลือใคร แต่ก็ยังมีคนหนึ่งรอคุณอยู่เสมอ นั่นก็คือตัวคุณเองในอนาคต 🤭)

ปิดการแจ้งเตือน หรือ อินเตอร์เน็ตเมื่อต้องทำงานสำคัญ

ในยุคนี้สิ่งที่รบกวนสมาธิ และทำลายประสิทธิภาพการทำงานมากที่สุด คงหนีไม่พ้นการเด้งแจ้งเตือนต่างๆ จากมือถือ หรือถ้าใช้คอมพิวเตอร์ก็พวก อีเมล์ หรือ Notification ต่างๆ ที่เราเปิดไว้ ดังนั้น ตอนทำงานสำคัญๆ หรือ โดยเฉพาะชั่วโมงทองคำ ควรจะปิดการแจ้งเตือนให้หมด หรือ ถ้าเป็นไปได้ปิดอินเตอร์เน็ตไปเลย

สถิติที่น่าตกใจ คือ คนเรามีสมาธิให้กับงานจริงๆ แค่ 53% เท่านั้น และถ้าเสียสมาธิไปแล้ว การจะเรียกสมาธิกลับมาใหม่ต้องใช้เวลาถึง 25 นาที

การจัดการเวลาอย่างเดียวไม่พอ ต้องบริหารพลังงานและสมาธิด้วย

เล่มนี้น่าจะเป็นเล่มแรกๆ ที่บอกว่าการจัดการเวลาไม่ได้ช่วยอะไรมาก และไม่เน้นด้วยว่าต้องทำกิจวัตรแบบใดเวลาใดเป็นพิเศษ เพราะต่อให้แบ่งเวลาทำงานงานหนึ่งอย่างชัดเจน แต่เราไม่มีพลังงานและสมาธิ มันก็ไร้ประโยชน์ เราจึงต้องดูที่ตัวเราเองเป็นหลัก ว่าเวลาใดคือเวลาทองคำ แล้วก็เอางานสำคัญๆ ไปทำเวลานั้นๆ ก็พอ เพราะเวลาทองคำ คือเวลาที่เรามีพลังงานและสมาธิอย่างครบถ้วนเต็ม 3 ปัจจัยแห่งความ Productive นั่นเอง

และสิ่งที่ต้องย้ำอีกครั้งก็คือ งานที่ทำในเวลาทองคำต้องเป็นงานที่สำคัญและมีคุณค่า หรือก็คืองานที่เป็นอันดับ 1 ถึง 3 ที่เรากำหนดไว้ว่าต้องทำแต่ละวันนั่นเอง

ทำงานให้น้อยลง พักให้มากขึ้น

ผู้เขียนได้ทำการทดลองทำงาน 90 ชั่งโมงต่อสัปดาห์ และ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ผลปรากฏว่า 90 ชั่วโมงทำงานได้สำเร็จมากกว่า 20 ชั่วโมงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้น จากการทดลองเวลาที่เหมาะสมก็คือ 1 ชั่วโมง พัก 15 นาที หรือจนเราหมดสมาธิ ซึ่งวิธีวัดว่าเราหมดสมาธิหรือยัง ก็ง่ายๆ คือ เราไปคิดเรื่องอื่นๆ บ่อยขึ้น หรือ เริ่มดูนาฬิกา ถ้าถึงจุดนี้เราก็ควรพักได้แล้ว

หรือจะใช้เทคนิคที่เรียกว่า Pomodoro คือ จับเวลาทำงานงานหนึ่งให้เสร็จใน 25 – 50 นาที แล้วก็พัก 5 – 10 นาที จากนั้นเมื่อผ่านไปครบ 4 รอบให้พักนานหน่อย 20 – 30 นาที (จากที่ผมทดลองพอครบ 4 รอบก็มักจะพักกลางวันพอดี) แบบนี้ก็จะช่วยให้ขณะที่ทำงานมีสมาธิและพลังเต็มเปี่ยมได้

กำหนดคะแนนพลังงานที่ต้องใช้ใหักับงาน

วิธีนี้ก็คือ การให้คะแนนพลังงานที่ต้องใช้ในการทำงานงานหนึ่ง ว่าเป็นเท่าไหร่ ระหว่าง 1-10 เพื่อนำมาปรับแผนงานตามสภาพของตัวเราจริงๆ ในเวลานั้นๆ เพราะแม้เราจะรู้เวลาทองคำของตัวเอง แต่มันก็มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ เช่น เมื่อถึงเวลาทองคำ แต่เรารู้สึกว่าพลังงานและสมาธิเหลือน้อย เราก็อาจจะปรับไปเอางานที่คะแนนพลังงานต่ำๆ มาทำแทนได้ จากนั้นเมื่อไปพักจนฟื้นฟู ก็ค่อยเอางานที่มีคะแนนพลังงานสูงมาทำ

จะเห็นว่าเล่มนี้ไม่ได้ตั้งกฏบังคับตายตัว แต่ส่วนใหญ่จะเน้นการยืดหยุ่นและปรับให้เข้ากับสถานการณ์ล่าสุดของตัวคุณเอง

กำหนดวันทำงานบ้าน ซ่อมบำรุง หรือวันทำงานทั่วๆ ไป

วันทำงานบ้านหรือซ่อมบำรุงคือสิ่งจำเป็น เพราะไม่งั้นคุณจะรู้สึกว่าสิ่งโน้นสิ่งนี้มันขัดตา ดูรกไปหมด หาของก็ยาก แต่ก็ไม่มีเวลาจัดการเพราะต้องรีบทำงาน แล้วก็ไม่รู้ว่าจะได้สะสางเมื่อไหร่ ทำให้เกิดเป็นเรื่องรกสมองที่จะคอยผุดมาหลอกหลอนคุณเวลาที่พยายามมีสมาธิกับงานหรืออะไรบางอย่าง ดังนั้น กำหนดไปเลย 1 วัน

แถมการทำงานบ้านนั้น ก็มีประโยชน์ได้ถึง 3 แบบด้วยกัน

  • ถ้าระหว่างทำ คุณฟัง Podcast ไปด้วยคุณก็จะได้ความรู้เพิ่มเติม
  • หากคุณไม่ฟังอะไร และใช้สติจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ คุณก็ได้พลังสติและสมาธิเพิ่มมา (อันนี้มีประโยชน์มากๆ สำหรับคนที่ต้องการ Productive)
  • และถ้าคุณทั้งไม่ชอบฟัง และไม่ต้องการมีสติจดจ่อ คุณก็แค่ปล่อยให้ใจเหม่อลอยไปเลย ซึ่งจะมีประโยชน์มากในการปล่อยให้สมองทำหน้าที่จัดเรียงข้อมูลด้วยตัวเอง แล้วคุณจะต้องประหลาดใจ เพราะไอเดียใหม่ๆ เจ๋งๆ จะผุดมาตอนเหม่อนี่ล่ะ

ซึ่งคุณสามารถเลือกทำในแบบที่คุณชอบได้เลย หรือจะแบบอื่นนอกจากนี้ก็ได้ เอาที่คุณทำแล้วมีความสุขหรือรู้สึกว่าได้ประโยชน์ไปกับการทำงานบ้านก็พอ

3 productive homework

หางานรองให้เจอแล้วตัดทิ้ง หรือมอบหมาย

เรื่องนี้มีความคล้ายกับการจัดลำดับความสำคัญของงาน แต่ต่างกันที่ การจัดลำดับความสำคัญใช้กับงานหลัก แต่งานรอง คืองานที่ไม่ได้ให้คุณค่าโดยตรง แต่มีส่วนส่งเสริมงานหลัก เช่น การตอบอีเมล์, การเข้าประชุม, การตั้งเวลาโพสบทความ, การหาข้อมูลเดินทาง, การดูแลเว็บไซต์ หรือการจัดการบัญชี Social medias ต่างๆ

งานรองที่ต้องตัดทิ้ง คือ งานที่คุณค่าต่ำ หรืองานที่ฉุดรั้งและไม่ได้สร้างประโยชน์โดยตรงต่องานหลัก คุณค่าต่ำในที่นี้ไม่ได้ได้หมายความว่าทำเงินได้น้อย ยกตัวอย่างเช่น Chris (ผู้เขียน) เองมีงานรองที่ตัดทิ้งคือ การจัดอบรมด้าน Productivity ให้กับองค์กรต่างๆ ซึ่งมันทำเงินได้มาก แต่เขาก็เลือกตัดทิ้ง เพราะมันไม่ได้ช่วยให้เขาทำการทดลอง 1 ปีสำเร็จเร็วขึ้น แถมยังทำให้เขาทำการทดลองได้ช้าลงด้วย เพราะต้องเสียเวลาอย่างมากในการเตรียมการอบรม และดำเนินการอบรม

และงานที่ต้องตัดทิ้งอย่างชัดเจนที่สุด แต่มักทำได้ยากมากเช่นกันก็คือ งานที่มาจากเพื่อนร่วมงานที่ขอร้องให้ช่วยทำ หรือแม้แต่งานแทรกจากหัวหน้า ซึ่งทั้งหมดนี้มักไม่เกี่ยวกับงานหลักของคุณ เรียกว่า ไม่นับเป็นงานรองด้วยซ้ำ ซึ่งพอจะปฏิเสธก็รู้สึกไม่ดี ดังนั้น ถ้าเป็นเพื่อนร่วมงานก็คงต้องเริ่มด้วยการขอโทษและอธิบายเหตุผลว่าทำไมช่วยไม่ได้ และหาทางแนะนำเท่าที่ทำได้เพื่อให้เขาไปดำเนินการเองต่อ หรือแนะนำคนที่ช่วยเขาได้ ส่วนถ้าเป็นหัวหน้าของคุณ ก็คงต้องอธิบายให้ชัดเจนว่า ถ้าทำงานใหม่นี้ งานเก่าจะไม่เสร็จและส่งผลเสียอย่างไรบ้าง

งานรองที่มอบหมายได้ คือ งานที่มีคุณค่าต่ำ แต่จำเป็นต้องทำให้เสร็จ เพราะสร้างประโยชน์โดยตรงต่องานหลัก ซึ่งการมอบหมายนั้นหากคุณไม่ได้มีเลขาส่วนตัว ก็สามารถทำได้ตั้งแต่ การจ้างคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้อง (ของผมคือแฟน 😁), การจ้างฟรีแลนซ์เพื่อทำบางงาน หรือจ้างเลขาออนไลน์เพื่อดูแลเรื่องทั่วๆ ไปให้คุณ

เมื่อคุณลดงานรองได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีได้ อย่าลืมให้รางวัลบางอย่างกับตัวเองด้วย เพราะช่วยให้สมองของคุณชื่นชอบวิธีลดงานรอง และมันจะทำให้การจัดการทั้งงานหลักและงานรองของคุณมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

main job and second job

เคลียร์สมองด้วยวิธี GTD (Getting Things Done)

หนังสือของ เดวิด อัลเลน ที่ชื่อ Getting Things Done (GTD) หรือชื่อภาษาไทยคือ ศิลปะของการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานอย่างห่างไกลความเครียด (ลิงก์หนังสือ) คือ หนังสือที่เป็นต้นกำเนิดให้ Chris (ผู้เขียน) เริ่มคลั่งไคล้ความมี Productivity เพราะฉะนั้นจะไม่มีเรื่องนี้ในเล่มก็คงไม่ได้

ซึ่งวิธีการก็คือ การกำจัดขยะในสมองของเรา เพื่อช่วยลดการวอกแวกและภาระให้กับสมอง โดยขยะก็คือ เรื่องราวที่ค้างคาในสมองของเรา ซึ่งสามารถแก้ได้โดยการบันทึกทุกๆ สิ่งที่ผุดขึ้นมา หรือ ทุกๆ สิ่งที่เรากังวล ลงไว้ในที่ใดสักที่ (เรียกว่า Inbox) อาจจะเป็น สมุดโน๊ต, มือถือ หรือ Project management tools อย่าง ClickUp ที่ผมใช้อยู่ทุกๆ วันก็ได้

จากน้้นก็หาเวลามาเคลียร์ Inbox โดยการดูว่าเรื่องเหล่านั้น คืออะไร จำเป็นต้องทำอะไรไหม, ต้องเก็บไว้หรือทิ้งได้, ต้องทำทันทีไหม มอบหมายให้คนอื่นทำได้ไหม หรือหากมีหลายขั้นตอน ต้องวางแผนโครงการไหม เป็นต้น

ตัวผมเองได้เขียนถึงเรื่อง GTD ไปบ้างแล้ว แถมยังบอกว่าจะสรุปให้อ่าน ซึ่งก็ยังไม่ได้ทำ เลยขอสัญญาว่าเล่มหน้า ที่จะสรุปลงเว็บก็คือเล่มนี้ 😄 ดังนั้น ตอนนี้ผมแนะนำให้ลองเสิร์ชกูเกิลด้วยคำว่า Getting Things Done ก็น่าจะได้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

สร้างความสมดุลชีวิตด้วย 7 hotspots

ในทุกๆ สัปดาห์คุณควรจะมองภาพกว้างออกมานอกจากแค่เรื่องงาน ก็คืออีก 7 มุมมองของชีวิต ซึ่งได้แก่

  • จิตใจ
  • ร่างกาย
  • อารมณ์
  • อาชีพ
  • การเงิน
  • ความสัมพันธ์
  • ความสนุก

และเมื่อคุณนึกถึงมุมมองเหล่านี้ แวบแรกคุณนึกถึงอะไร นั่นล่ะคือสิ่งที่คุณจะต้องหาเวลาทำ เพื่อความสมดุลในชีวิตคุณ หากคุณดูเรื่องความสัมพันธ์ แล้วในหัวคุณผุดขึ้นมาว่า “ไม่ได้ไปหาแม่นานแล้วนะ” แบบนี้คุณก็ควรเอาเรื่องนี้ไปลงในตารางชีวิตของคุณ ซึ่งแบบนี้ก็จะเป็นแบบเดียวกันกับวิธี GTD ที่พูดไปก่อนหน้า และหากสิ่งที่คุณนึกได้สามารถทำได้ในสัปดาห์หน้า คุณก็แค่วางตารางเวลาให้มัน อาทิตย์ถัดไป 7 hotspots ของคุณก็จะถูกเคลียร์ให้น้อยลง (แต่ถ้ามุมมองไหนนึกอะไรไม่ออก ก็ถือว่าดีแล้วนะครับ แปลว่าคุณไม่มีอะไรค้างคาใจ)

แต่บางช่วงชีวิตเราก็อาจจะทำให้สมดุลได้ยาก เช่น ในช่วงที่กำลังต้องครบกำหนดชำระหนี้แต่เงินยังไม่พอ แบบนี้การให้ความสำคัญในมุมมองการเงินมากกว่าเรื่องอื่น ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องครับ เพราะถึงจุดนั้นจริงๆ ต่อให้พยายามคิดถึงเรื่องอื่น ก็คงคิดอะไรไม่ออก นอกจากเรื่องหาทางชำระหนี้

ฝึกเพิ่มกล้ามเนื้อสมาธิ

ปกติคนส่วนใหญ่จะจดจ่อกับงานได้แค่ 53% ที่เหลือผลัดไปทำงานอื่น ลอย หรือวอกแวก ดังนั้น การฝึกสมาธิจึงช่วยเพิ่ม % การจดจ่อได้มากขึ้น เรียกได้ว่า สมาธิ คือสิ่งที่ช่วยให้ Productive มากยิ่งขึ้นแบบตรงจุดที่สุด เพราะ 53% นี่ ถ้าเทียบเป็นผลงานออกมาแล้ว ก็ได้แค่เกรด D เท่านั้นเอง โดยหนังสือเรียกว่า วิธีการฝึกกล้ามเนื้อสมาธิ

เนื้อหาในหัวข้อนี้มีหลายส่วนที่นอกเหนือจากหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเรื่องที่ผมพบเจอและศึกษามาแทรกอยู่ด้วยนะครับ

  • ฝึกสมาธิ : โดยคุณสามารถใช้วิธีง่ายๆ ที่เคยได้ยินกันมาตั้งแต่เด็กๆ นั่นก็คือ อานาปานสติ ที่ตอนเด็กอาจจะดูเหมือนยากเพราะทำไม่ได้สักทีจนโดนครูดุ แต่จริงๆ แล้วง่ายมาก คือ แค่โฟกัสมาที่ลมหายใจเข้าและออก รับรู้ถึงลมผ่านจมูกลงสู่ท้อง รับรู้ลมจากท้องไหลผ่านออกสู่จมูก และเมื่อเผลอวอกแวกหรือเผลอไปคิดก็รู้ทัน และดึงกลับมาดูลมหายใจต่อ และการวอกแวก ฟุ้ง หรือคิดโน่นนี่ เป็นเรื่องปกติของสมอง แต่คนที่บอกว่ายาก นั่นก็คงเพราะไปพยายามบังคับไม่ให้มันวอกแวก ไม่ให้มันคิด อยากให้มันนิ่งสงบอยู่แต่กับลมหายใจ หรือซ้ำร้ายหงุดหงิดที่ไม่ยอมสงบเสียอีก แบบนี้ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง

    หรือหากคุณอยากเพิ่มความสนุกและท้าทายในการนั่งสมาธิก็มีอุปกรณ์ช่วยนั่งสมาธิที่ชื่อว่า Muse ซึ่งดีและสนุกมาก เพราะตัวแอปจะมีเควสที่เหมือนเกมมาค่อยท้าทายให้คุณอัพเลเวลตัวเองไปเรื่อยๆ เช่น นั่งให้ได้นกสีฟ้า 30 ตัว (จะพูดต่อหลังจากนี้), นั่งเวลาเดียวกัน 3 วัน, นั่งให้เกิน 10 นาที หรือ นั่งติดกัน 7 วันแบบไม่จำกัดเวลา เป็นต้น
    และสิ่งที่ที่ผมชอบมากอีกอย่างก็คือ นกสีฟ้าที่แต่ละตัวจะร้องเมื่อคุณมีความสงบจริงๆ ทำให้เรารู้ว่าการนั่งสมาธิของเราขณะนั้นสงบจริงหรือไม่ และเมื่อนั่งครบเวลาก็จะนับจำนวนนกสีฟ้าว่าได้เท่าไหร่ ยิ่งได้เยอะก็ยิ่งรู้สึกภูมิใจ ซึ่งเจ้าเครื่องนี้เวลาใช้ต้องนำมาคาดที่บริเวณหน้าผากนะครับ
    และนี่คือภาพตัวอย่าง Session การนั่งสมาธิแต่ละครั้ง จะเห็นว่ามีนกสีฟ้าตัวเล็กๆ เรียงๆ กันนั่นล่ะครับ นกสีฟ้าที่ผมพูดถึง 😄
    Muse mind session

    หากคุณสนใจ ผมซื้อมาจากร้านนี้ครับ shopee : groov.asia สินค้าชื่อ “Muse 2 Brain Sensing Headband อุปกรณ์ตรวจวัดคลื่นสมอง…” (ผมซื้อจาก groov.asia โดยตรง แต่เพิ่งมารู้ทีหลังว่ามีใน shopee ด้วย)
    นี่คือภาพตัวอย่างครับ ผมวางไว้บนชั้นข้างๆ โต๊ะทำงานเลย จะได้หยิบมาใช้ได้สะดวกครับ
    Muse 2 Brain Sensing Headband อุปกรณ์ตรวจวัดคลื่นสมอง
  • ฝึกสติเพื่อรู้ตัวทั่วพร้อม : ผมเข้าใจว่าทางพุทธน่าจะเรียกว่า สติสัมปชัญญะ ซึ่งก็คือ การมองตัวเองจากมุมนอกมาที่กายและใจของเรา และมองทุกอย่างตามความเป็นจริง มองเห็นกายเคลื่อนไหว มองเห็นความคิดผ่านมาแล้วผ่านไป มองเห็นความคันบนผิวหนัง รับรู้เสียงผ่านหู ทำเพียงรับรู้ และไม่ต้องให้ค่าใดๆ ว่า คือดีหรือไม่ดี คือบวกหรือลบ ถ้าเผลอไปให้ค่าหรือเผลอไปจมกับความคิดก็แค่กลับมาเป็นผู้มองดูกายใจเหมือนเดิม

    วิธีนี้สามารถใช้ได้กับการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น แปรงฟัน, อาบน้ำ, กินอาหาร, กวาดบ้าน, ล้างจาน, ล้างรถ หรือ แม้แต่ตอนเดินไปทำงาน เป็นต้น และจะได้ผลดียิ่งขึ้นถ้าทำทุกอย่างให้ช้าลงอีกสักนิด เพื่อจะได้เห็นกายที่เคลื่อนไหวได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น (แต่ถ้ากำลังจะเข้างานสายก็ไม่ต้องเดินอย่างช้าๆ นะครับ เดี๋ยวจะเสียมากกว่าได้ 😄)

ที่เรียกว่ากล้ามเนื้อสมาธิก็เพราะว่ามันเหมือนกล้ามเนื้อจริงๆ ดังตัวอย่างของผมเอง ปีที่แล้วผมเคย ฝึกสติเพื่อรู้ตัวทั่วพร้อม ในตอนเช้าหลังตื่นนอน โดยทำทุกวันวันละ 30 นาที ซึ่งทำได้ประมาณ 2 เดือน ผลที่ได้ทำให้รู้สึกว่าตัวเองเห็นทันอารมณ์และความคิดตัวเองได้มากขึ้น สงบและใจเย็นมากขึ้น กังวลน้อยลง แต่แล้วก็หยุดไปเพราะความชะล่าใจเหมือนคนที่ฟิตหุ่นจนมีกล้ามสวยงาม แต่ดันหยุดเวทจนกล้ามเนื้อฝ่อไปหมด ซึ่งสมาธิก็เช่นกัน หยุดทำสมาธิ กล้ามเนื้อสมาธิก็ฝ่อไป

“การทำงานทีละอย่าง อย่างมีสมาธิ ไม่ใช่แค่ช่วยให้เรา Productive มากขึ้น แต่ช่วยให้เราเป็นคนที่ดีกว่าเดิมด้วย”

หนังสือ : The Productivity Project

จากวลีในหนังสือด้านบน ผมขอเสริมว่า เป็นเพราะปกติมนุษย์ถูกขับเคลื่อนด้วยสัญชาตญาณมากกว่าที่เราเข้าใจ ยิ่งถ้าเราขาดสติ สัญชาตญาณซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นด้านลบ จะแสดงตัวออกมาได้บ่อยๆ ซึ่งผมเข้าใจว่าทางพุทธ น่าจะเรียกว่า กิเลส นั่นเอง

การมีสมาธิในการกินอาหารสามารถช่วยลดน้ำหนักได้ เพราะเราจะสังเกตเห็นทันความอิ่มได้เร็วมากๆ ทำให้ไม่กินเยอะเกิน เหมือนที่บางครั้งกว่าเราจะรู้ตัวก็แน่นท้องไปเสียแล้ว และนอกจากนี้ การกินอย่างมีสติยังสามารถเห็นความฟินจากกินอาหารได้ชัดเจนขึ้นด้วย เรียกว่า ได้ผลสองเด้งเลย ทั้งผอมลงและมีความสุขกับการกินได้มากขึ้น

ทำทีละอย่าง หรือ อยู่กับปัจจุบันขณะ

แม้หัวข้อนี้จะเป็นเรื่องของการทำงานโดยตรง คือการทำงานแค่อย่างเดียว (ไม่ Multi Tasking) แต่ก็ยังมีความเกี่ยวโยงกับหัวข้อก่อนหน้าคือสมาธิ เพราะการทำงานให้ได้อย่างเดียวจริงๆ ก็คล้ายกับการทำ อานาปานสติ แต่ต่างกันที่เราไม่ได้โฟกัสที่ลมหายใจ แต่โฟกัสที่งานงานเดียวที่เราทำอยู่ และเมื่อเราวอกแวกจากงานเราก็ดึงสติกลับมาที่งาน ก็เหมือนกับการที่เราดึงสติกับมาที่ลมหายใจยังไงยังงั้น

และขอเน้นย้ำอีกนิดว่า “Multi Tasking ไม่มีอยู่จริง” (ฟังคำนี้ได้จาก Podcast : พี่รวิศ หาญอุตสาหะ) แต่คนส่วนใหญ่ที่ทำงานทีละหลายอย่างแล้วมีความสุขเพราะว่าสมองชอบ จึงหลั่งโดพามีนสารที่ทำให้มีความสุข ซึ่งเป็นเหมือนสารที่ทำให้คุณเสพติดอย่างหนึ่ง และที่น่ากลัวคือ ทั้งอาณาจักรลิมบิก และ พรีฟรอนทัล คอร์เทกซ์ ต่างก็ชื่นชอบการทำงานหลายๆ อย่าง รวมถึงชอบวอกแวกกับสิ่งใหม่ที่น่าค้นหาเสียด้วย ดังนั้น การฝึกสมาธิจึงยิ่งสำคัญเข้าไปใหญ่

ดื่มน้ำ และคาเฟอีน ให้เป็น

คุณคงรู้อยู่แล้วว่าต้องดื่มน้ำวันละอย่างน้อย 2 ลิตร หรือกาแฟทำให้ทำงานได้สดชื่นขึ้น แต่มันก็ยังมีเทคนิคที่ช่วยเพิ่มความ Productive จากการดื่มทั้งน้ำและกาแฟได้อีก ดังนี้

  • การดื่มน้ำเปล่าเป็นอย่างแรกหลังตื่น จะช่วยให้เผาผลาญพลังงานได้เร็วขึ้น 24% ทำให้มีแรงลุยงานได้สบายขึ้น
  • คาแฟอีนส่งผลเสียต่อความคิดสร้างสรรค์
  • คาเฟอีน ส่งผลเสียต่อ Introvert เนื่องจากกลุ่มนี้ได้รับแรงกระตุ้นจากสภาพแวดล้อมภายนอกง่ายอยู่แล้ว การกินคาเฟอีนเข้าไปยิ่งทำให้ ถูกกระตุ้นมากเกิน (ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น และประสบด้วยตัวเองมาเลย คือช่วงที่ผมกินกาแฟเยอะๆ คือ วันละ 3-5 แก้ว ช่วงนั้นจะฟุ้งซ่านมากๆ วิตกกังวลก็ง่ายด้วย)
  • ก่อนนอน 8-14 ชม. ไม่ควรกินคาเฟอีน เพราะจะทำให้หลับไม่สนิท (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วยครับ)

นอนให้พอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การนอนไม่พอทำให้มีความเสี่ยงตามหนังสือ The power of output ที่ผมเคยรีวิวสรุปไปว่า

  • การนอนน้อยกว่า 6 ชม. ทำให้สมาธิลดลงกว่า 3-5 เท่า
  • ถ้านอนน้อยกว่า 4 ชม. สมาธิจะลดลงไปถึง 6-8 เท่า รวมถึงเสี่ยงโรคมะเร็ง 6 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 5.6 เท่า

ในหนังสือ The productivity project เล่มนี้ก็ย้ำอีกครั้งว่า

  • ถ้าอดนอน 1 ชั่วโมง จะสูญเสียเวลาในการทำงานแบบมีประสิทธิภาพไป 2 ชั่วโมง

ส่วนในด้านการออกกำลังกายนั้นมีประโยชน์อย่างมากในการทำงานให้ได้ประสิทธิภาพเช่นกัน เพราะสมองจะมองว่าคุณอยู่ในโหมดสู้หรือหนี และจะหลั่งสารที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดออกมา แถมยังช่วยเพิ่มระบบการไหลเวียนเลือดเข้าสู่สมอง ทำให้ใช้ความคิดได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มพลังให้คุณทำงานได้ดียิ่งขึ้น ทำให้อารมณ์ดีขึ้น และความจำดีขึ้น นี่ยังไม่นับว่าช่วยให้สุขภาพดีขึ้น หุ่นดีขึ้นนะครับ ซึ่งสมกับคำว่า “การออกกำลังกายคือยาวิเศษ” จริงๆ

อย่าฝืนทำทุกอย่างให้เป็นคน Productive มากเกินไป จนลืมใจดีกับตัวเอง

เรื่องนี้เป็นบทส่งท้ายของหนังสือ ซึ่งตรงใจผมมากที่สุด เพราะมันคือสิ่งที่ผมเคยประสบพบเจอมาหลายครั้งกับการที่พยายามสร้างวินัย หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ตัวเอง ทุกครั้งผมจะตั้งกฎที่เคร่งครัดและยากเย็น พอทำไม่ได้ก็ดูแคลนตัวเองว่า ใจไม่สู้ ไม่มีวินัย จนผ่านเรื่องแบบนี้มาหลายครั้ง ก็ได้พบกับสิ่งหนึ่งที่เป็นพื้นฐาน แต่เรามักถูกโลกแห่งความเร่งรีบในยุคนี้ทำให้ลืมเลือน นั่นก็คือ “ค่อยเป็นค่อยไป.. แล้วหาจุดที่พอดีกับตัวเองให้เจอ

ยกตัวอย่างการออกกำลังกาย ซึ่งผมไม่ชอบเลย และยิ่งเกลียดถ้าเป็นการเวท เพราะมันช่างเหนื่อย เมื่อย และล้ามาก แถมน่าเบื่อสุดๆ เลย แต่แล้วเพราะความพยายามหาจุดที่พอดีกับตัวเอง และการลงมือทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป มันก็ทำให้ผมสามารถออกกำลังกายได้

โดยเริ่มจากการที่ผมชอบเล่นเกม (แต่ไม่ถึงกับติด) และพอมารู้จักกับเกม VR ซึ่งครั้งแรกผมซื้อรุ่นถูกๆ ราคาไม่เกินหมื่นบาทมา เพื่อหวังจะแค่อยากลองเล่นดู ซึ่งก็พบว่าสนุกดีและเหนื่อยด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไปเป็นปีก็ได้เจอคลิปหนึ่ง ที่เขารีวิวการเล่น VR เพื่อออกกำลังกายจริงๆ จังๆ แล้วเขาลดน้ำหนักได้จริง ผมก็เลยตื่นเต้นมาก และสนใจมาก เลยสั่งแบบใหม่มาเลย 2 เครื่องเพื่อเล่นแข่งกับแฟน เพราะแบบแรกมันมีสายโยงต่อกับคอมทำให้เคลื่อนไหวไม่ถนัด

เกมแรกที่เล่นเพื่อออกกำลังกายก็คือ Beat saber ที่คุณก็อาจจะรู้จัก ผลจากการลองจับแคลอรี่ในการออกกำลังกายปรากฏว่า ได้ชั่วโมงละ 200-350 แคลอรี่เลย เพราะเล่นไปแป๊บเดียวหมดชั่วโมงแล้ว ลืมเบื่อ ลืมเหนื่อยไปเลย

สุดท้ายไปๆ มาๆ ก็เล่นเกมแนวออกกำลังกายอื่นๆ อีกเกือบสิบเกม แถมเวลาก็ผ่านไป 1 ปีแล้ว โดยที่ออกกำลังกาย (เล่น VR) ทุกสัปดาห์อย่างน้อย 3 วัน จนวันหนึ่งอยากลดน้ำหนักให้ได้ดังเป้าเสียที ซึ่งตอนนี้ก็ลดมาได้เยอะแล้วแต่ยังไม่หล่อ (55) เลยศึกษาเพิ่มเติมดู ก็พบว่าควรสร้างกล้ามเนื้อด้วยการเวทไปด้วย ถึงจุดนี้ก็ตัดสินใจเวทโดยที่ไม่มีความเกลียดหรืออะไรอย่างก่อนหน้านี้เลย ซึ่งถ้าไม่มาเขียนบทความนี้ผมก็นึกไม่ออกว่าเคยเกลียดขนาดนั้น (แต่เหมือนจะไม่ถูกซะทีเดียว เพราะน่าจะเหลือ สควอช อีกอย่างที่ยังเกลียดอยู่😅)

นั่นก็เพราะว่า พอคนเราได้เริ่มทำอะไรสักอย่างสำเร็จ เรามักจะอยากทำสิ่งที่ดีขึ้นไปอีก นี่ล่ะคือผลลัพธ์ที่แท้จริงของการค่อยเป็นค่อยไป แล้วผมก็สามารถเวททุกวันได้จริงๆ แม้จะไม่ได้หนักมากอะไร แต่ก็ได้น้ำหนักน้อยที่สุดในรอบ 10 ปีเลย

เล่าเรื่องตัวเองมาเสียยาว กลับมาที่หนังสือกันดีกว่าครับ นอกจากเรื่องค่อยเป็นค่อยไป หนังสือยังแนะนำ 9 แนวทางในการใจดีกับตัวเองด้วย ดังนี้

  • พักบ่อยๆ ชม.ละ 10 – 15 นาทีก็ยังได้
  • นึกถึง 3 สิ่งที่รู้สึกขอบคุณ
  • เขียนบันทึกสิ่งดีๆ ที่ได้พบเจอ
  • หั่นงาน ใหญ่ หรือ ยาก เป็นชิ้นเล็กๆ
  • ขอคำแนะนำจากตัวเอง มองตัวเองในมุมคนนอก
  • ให้รางวัลตัวเอง
  • บอกตัวเองว่าเราสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ไม่มีวันจบสิ้น ตามหลัก Growth Mindset
  • สร้างบันทึกรายการความสำเร็จ
  • ดูภาพลูกสัตว์น่ารักๆ บ่อยๆ เพราะทำให้มีความสุขแบบอบอุ่น มีสมาธิ และเพิ่ม productivity

ซึ่งทั้งหมดผมก็สร้างเป็น Checklist ลงใน Task แล้วกำหนดเวลาด้วย ClickUp Recurring Task เพื่อเตือนตัวเองในทุกๆ วัน

สิ่งที่ผมจะนำจากหนังสือเล่มนี้ไปใช้ในชีวิตจริง

  • ผมจะใช้ ClickUp เพื่อจับเวลาทุกการกระทำในแต่ละวัน เพื่อหาว่าอะไรคือเวลาที่สูญเปล่า และปรับปรุงมันให้ดีขึ้น
  • ใช้วิธี GTD เพื่อเคลียร์หัวสมองในทุกวัน (จริงๆ ผมใช้มาได้สักพักแล้วก่อนอ่านเล่มนี้อีก ซึ่งช่วยได้มากเลยจริงๆ ครับ บางเรื่องแค่ได้เขียนลงสักที ก็หัวโล่งและสบายใจขึ้นเยอะเลย เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังใน รีวิวหนังสือ Getting Things Done ที่ผมกำลังจะเขียนรีวิวสรุปต่อจากเล่มนี้ครับ)
  • จะพยายามตัด และมอบหมายงานรองให้แฟนผมช่วยงาน
  • จะพยายามพัก 10-15 นาที ต่อการทำงานทุก 1 ชั่วโมง
  • หาเวลาอย่างน้อยวันละ 15 นาทีเพื่อเหม่อลอย (ปกติทำประจำแบบไม่ได้ตั้งใจ 🤣 คราวนี้ต้องลองแบ่งเวลาให้จริงๆ จังๆ ดู )
  • จะกำหนด 3 งานสำคัญในแต่ละวัน และ 3 งานสำคัญในแต่ละสัปดาห์
  • นั่งสมาธิอย่างน้อยวันละ 10 นาที (ผมทำเกือบทุกวันอยู่แล้ว)
  • จะทำกิจวัตรในช่วง 30 นาทีแรกหลังตื่นนอน ด้วยวิธี ฝึกสติเพื่อรู้ตัวทั่วพร้อม โดยผมจะพยายามทำทุกๆ อย่างให้ช้าลง และงดการพูดคุยกับแฟนด้วย (ต้องกลับมาทำให้ได้)
  • กำหนด 1 วัน เป็นวันทำความสะอาดและซ่อมบำรุง

ก่อนสรุป ผมขอนิยามคำว่า Productivity จากหนังสือเล่มนี้ โดยมุมมองของตัวผมเองว่า

“Productivity คือ การสร้างความสำเร็จที่มีคุณภาพ ให้กับงานที่สำคัญและมีคุณค่าสูงสุด ด้วยเวลาที่เหมาะสม พร้อมกับความจดจ่อและกำลังใจที่เต็มเปี่ยม ..เพื่อเอาเวลาที่เหลือไปกินและเที่ยว แฮร่..😁”

โดย ผมเอง

ร้านหนังสือ

สรุป

อาจจะแปลกเสียหน่อย เพราะผมจะเอาสิ่งที่อยู่ในบทนำมาเล่าให้ฟังในสรุป ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่ผู้เขียน “The Productivity project โปรเจกต์ลับคนไฟลุก” เล่มนี้ชอบมาก ซึ่งผมเองพอได้อ่านแล้วก็ชอบมากเช่นกัน “เป็นเรื่องของมหาลัยแห่งหนึ่งที่หลังจากสร้างวิทยาเขตใหม่เสร็จ แต่ไม่ยอมสร้างทางเดินระหว่างตึก กลับปล่อยให้นักศึกษาเดินกันได้ตามใจ พอผ่านไปหนึ่งปีปรากฏว่า บริเวณระหว่างตึกต่างๆ จะมีเส้นทางที่เกิดจากการย่ำเท้าจนหญ้าไม่ขึ้น เผยให้เห็นเป็นทางเดินขึ้นมา จากนั้นทางมหาลัยจึงค่อยสร้างทางเดินที่สวยงามตามรอยหญ้าที่หายไปนั้น”

ซึ่งจากเรื่องนี้บอกเราว่า การที่เราจะทำอะไรให้ได้ประสิทธิภาพที่สุดก็ต้องเกิดจากการปรับจูนให้เข้ากับธรรมชาติหรือความชอบของเรา ไม่ใช่ฝืนทำทุกอย่างเพื่อให้มัน Productive ไปเสียทั้งหมด นึกภาพว่าถ้ามหาลัยสร้างทางเดินไว้ก่อน แต่ไม่ใช่ทางที่นักศึกษาชอบ ก็จะเกิดการเดินลัดสนาม หรือแหวกพุ่มไม้ ทำให้เส้นทางที่แม้จะสวยงามในตอนแรกก็ถูกทำลายได้ในไม่ช้า

และแม้หนังสือจะมีแนวทางมากมายมาแนะนำคุณ แต่คุณก็สามารถเริ่มได้เฉพาะที่คุณยินดี ไม่รู้สึกขัดขืน เช่น ถ้านั่งสมาธิ 10 นาทีรู้สึกยากและอึดอัดเกินไป ก็ลดเหลือ 5 นาที แต่ถ้ายังรู้สึกไม่ดีอยู่ ก็เหลือแค่ 1 นาทีก็ได้ พอทำไปได้เรื่อยๆ เดี๋ยวเราก็จะอยากพัฒนาขึ้นเอง คล้ายๆ ตัวอย่างการออกกำลังกายด้วย VR ของผมครับ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเสียดายมากๆ ที่เพิ่งได้มาอ่านเล่มนี้ เพราะมันตอบโจทย์หลายๆ ปัญหาในชีวิตของผม และคนยุคนี้ แถมทำให้ผมเข้าใจคำว่า Productivity มากยิ่งขึ้นไปอีก และอีกเรื่องที่ทำให้ใจผมพองโต ก็คือเหมือนเป็นการเน้นย้ำว่าคอนเซ็ปต์ Productive To Go ของผมนั้นถูกต้อง หรืออย่างน้อยก็เข้าใกล้กับสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ได้ทดลองมา

ตอนท้ายเล่ม Chris มีการพูดถึงความสุขทางพุทธว่าคือ การพอใจในสิ่งที่มี ซึ่งดูย้อนแย้งกับการที่เราอยาก productive ขึ้น เพื่อให้ได้บางอย่างหรือบางสิ่งที่เราปรารถนา และเขาก็ยังสรุปว่า ความทะเยอทะยานเป็นสิ่งที่ดี ตราบเท่าที่เราหาความสุขมาเติมเต็มได้ ซึ่งผมอยากขอเสริมในจุดนี้ว่า เมื่อถึงวันที่เราไม่ได้สมหวังตามความทะยานอยากหรือความปรารถนา ก็อย่าลืมกลับมาใช้ความสุขทางพุทธดู คือกลับมาพอใจในสิ่งที่มี แบบนี้ผมมองว่าน่าจะช่วยให้ ทั้งทางด้านพุทธ และด้าน productive ดูสมดุลขึ้นไปพร้อมๆ กัน

อยากได้บทความเรื่องอะไร หรือ หัวข้อแนวไหน สามารถแนะนำกันมาได้ที่แบบฟอร์มนี้เลยครับ ซึ่งข้อมูลที่ส่งจากแบบฟอร์มนี้จะถูกไปสร้างเป็น Clickup Task และสั่งงานผม ให้อัตโนมัติเลยครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *